รายงานการละเมิด

โพสต์แนะนำ

ป้ายกำกับ

ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ลูกกรี๊ด ทำอย่างไร? หลักการที่ใช้และผลลัพธ์ที่ได้ในความเป็นจริง

 

ลูกกรี๊ด ต้องทำอย่างไร? ต้องเป็นปัญหาที่คุณแม่หลายท่านได้ประสบ และมีอีกหลายท่านที่ต้องค้นหาคำนี้ผ่านหน้าเวปไซต์ เพื่อนำมารับมือกับลูกน้อย โดยเฉพาะในช่วง 3 ขวบแรก หลักการต่าง ๆ ย่อมถูกงัดขึ้นมาใช้ แต่ใช่ว่าทุกอย่างที่ศึกษาจะตรงตามทฤษฏีที่เขาว่ากัน ลองมาดูว่าคุณแม่บ้านนี้ ใช้หลักการ หรือ ทฤษฏีในการรับมือกับลูกน้อยที่บ้าน แล้วได้ผล
ออกมาเป็นอย่างไรบ้าง

1. นิ่ง สงบ สยบ ความเคลื่อนไหว

            หลักการนี้ ใช้ตามที่ได้ศึกษาจากเพจหลายเพจ และที่เด่นชัดในการเลี้ยงลูก คือ เพจคุณหมอประเสริฐ ซึ่งคุณหมอได้ให้ข้อคิด ให้แง่มุม ในการเลี้ยงลูก รวมถึงวิธีการสอนได้ดีมาก สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ แต่บางอย่างต้องอาศัยเวลามากเหลือเกิน กว่าจะประสบผลสำเร็จ อย่างเช่น เมื่อลูกกรี๊ด ต้องทำอย่างไรนี่ล่ะ แนวทางแรกที่คุณหมอแนะนำคือ ใช้ความนิ่ง สงบ ยิ้มน้อย ๆ ปล่อยให้ลูกร้องไป ไม่ดู ไม่ด่า ไม่ว่า ไม่บ่น ลูกร้อง แม่ทนได้ ลูกขยันร้อง แม่นั่งเป็นเพื่อน ลูกพร้อมเมื่อไหร่ แม่จะอธิบายให้ฟัง สรุปสิ่งที่เกิดกับลูกบ้านนี้ คือ จากเดิมร้องไห้เฉย ๆ เปลี่ยนเป็นร้องกรี๊ดให้ดังขึ้น เมื่อแม่ยังนิ่ง เริ่มร้องกรี๊ดแล้ววิ่งไปมา นานมากเกือบชั่วโมง ยังมีแรง ยังไม่เหนื่อย แม่เริ่มเหนื่อย แต่ยังทนไหว จากนั้นร้องแล้วว วิ่งแล้ว เริ่มเหนื่อยแล้ว นั่งลง เริ่มทุบหัวตัวเอง ตบหัวตัวเอง ทำร้ายร่างกายตัวเอง จนแม่รู้สึกไม่ไหว เพราะทำจริงและก็เจ็บจริง ไม่ใช่สแตนอิน หยิกตัวเอง โธ่หัวอกคนเป็นแม่นะเนอะ เห็นลูกเจ็บ เริ่มทนไม่ไหว สุดท้ายก็ต้องเข้าไปห้าม และเข้าไปโอ๋ สรุปยกนี้ แม่แพ้ราบคาบ จากนั้นทุกครั้งที่คุณลูกพยายามที่จะกรี๊ด คุณแม่ก็ลองใช้วิธีนี้เรื่อย ๆ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ผลอยู่ดี เรื่องนี้ต้องโทษคุณแม่ เพราะใจไม่แข็งพอ หลาย ๆ ครั้งเข้า คุณลูกก็เลยเรียนรู้ว่า ท้ายที่สุดแล้ว แม่จะต้องเข้ามาปลอบแน่นอน เลยใช้ไม่ได้สำหรับลูกบ้านนี้ไปโดยปริยาย


2. สอนให้ลูกควบคุมตัวเอง และเบี่ยงเบนความสนใจ

            เป็นอีกหนึ่งหลักการที่นำมาใช้กับมนุษย์ลูกบ้านนี้ เมื่อเริ่มร้อง ซึ่งนำมาจาก M.O.M  ซึ่งในเวปนี้ก็ได้แนะนำ 6 วิธีรับมือเมื่อลูกกรีดร้อง โดยให้ใช้การอธิบายเมื่อลูกพยายามกรี๊ด และเบี่ยงเบนความสนใจไปในเรื่องอื่น  ลองใช้ดู เมื่อลูกน้อยกลอยใจ เกิดอารมณ์ไม่ดีและเริ่มต้นส่งเสียงกรี๊ด แม่รีบบอกเลยว่า "เรามาเล่นนับ 1-10 กันดีกว่าไหม" ชะงักนิดหนึ่ง แล้วคงคิดว่าแม่จะมาไม้ไหน แต่ก็ยังไม่หยุด พยายามกรี๊ดต่อไป คุณแม่เลยลุยต่อ "ถ้าใครนับ 1-10 ถูกแล้วเดี๋ยวเราไปวิ่งเล่นกันข้างนอกนะ" เริ่มสงบลง และเริ่มนับ 1 -10 คลอไปกับเสียงร้องไห้ พอถึง 10 มีสะอื้นเล็กน้อย แล้วมองหน้าแม่ บอกว่า "ไปวิ่งเล่นข้างนอกกันได้แล้วค่ะ" โอเคจ้า วิธีนี้สงสัยจะได้ผล หลังจากนั้นคุณแม่ก็พยายามใช้วิธีนี้ ซึ่งได้ผลกับลูกบ้านนี้พอควร แต่ต้องเปลี่ยนเงิื่อนไขการเบี่ยงเบนความสนใจไปตลอด ใช้มุกเดิมไม่ค่อยจะได้ พอเขาอารมณ์ดีก็พยายามอธิบายเหตุผลให้ฟัง ก็พอรับฟังกันอยู่นา หลักการเลยเหมาะสำหรับลูกบ้านนี้


3. ค้นหาสาเหตุที่ทำให้กรี๊ด แล้วแก้ที่สาเหตุ

            สาเหตุที่ทำให้ลูกน้อยเกิดอาการกรี๊ดไม่หยุดมีหลายสาเหตุ โดยขึ้นอยู๋กับช่วงวัยของเด็กด้วยส่วนหนึ่ง ไปศึกษาในเวปไซต์ MGR Online บอกถึงวิธีการจัดการกับเด็กชอบกรี๊ด ที่เขียนโดย ดร. แพง ชินพงษ์ ก็ได้บอกวิธีการไว้ทั้งหมด 5 วิธี คือ การเข้าใจความต้องการ การควบคุมสถานการณ์ การรู้จักวิธีการรับมือ การรู้จักกฏเกณฑ์และสุดท้ายคือรู้เท่าทันตนเอง อ่านดูก็เข้าใจอยู่ แต่ข้อแรก การเข้าใจความต้องการนี่ต้องหาความรู้เพิ่มเติม เลยเข้าไปอ่านใน parentsone.com เรื่อง 5 สาเหตุลูกกรี๊ดทั้งวันจะแก้ได้อย่างไร อ่านแล้วก็มานั่งวิเคราะห์สาเหตุที่ลูกบ้านนี้เป็น ก็สรุปใจความได้ว่า ลูกบ้านนี้น่าจะต้องการกำลังใจ และอยากเป็นคนสำคัญ เนื่องจากว่า บ้านนี้มีแฝด เมื่อให้ความสำคัญกับคนใดคนหนึ่งมากเกินไป อีกคนก็จะเริ่มมีปัญหา และแฝดผี่มีปัญหาเรื่องของการเดิน พ่อแม่จึงต้องใส่ใจมากเป็นพิเศษ ทำให้แฝดน้องอาจจะเรียกร้องความสนใจ ฉะนั้น เมื่อลูกกรี๊ด หรือ ร้องไห้เสียงดัง จึงพยายามกอด และบอกรัก และให้กำลังใจ เช่น เมื่อแฝดพี่โมโหบางเรื่องที่ทำไม่ได้เหมือนน้อง แม่ก็จะกอด และบอกว่า "พี่พยายามแล้ว เดี๋ยวพี่ก็ทำได้" ซึ่งมันก็ได้ผลมากทีเดียว สรุปแล้ววิธีแก้ไขที่ต้นเหตุเป็นวิธีที่ค่อนข้างใช้ได้ผลทีเดียว 


4. ตั้งกฏเกณฑ์หรือกติกาในบ้าน

            ต้องมีการพูดคุย ใช้หลักเหตุผล โดยสมาชิกในบ้าน พ่อ แม่ ลูกแฝด ได้ตั้งกติกาในบ้าน ได้ข้อตกลงหลายอย่าง เช่น ต้องทานข้าวให้หมดถึงไปเล่นได้ ต้องแบ่งของเล่นกัน ต้องไม่ทะเลาะกัน เมื่อทะเลาะกันจะต้องกอดและขอโทษกัน เมื่อสถานการณ์จริงมาถึง กฏที่ตั้งไว้ก็ใช้ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง อย่างเช่น ต้องแบ่งของเล่นกัน อันนี้เป็นปัญหาตลอด เมื่อความอยากเล่นไม่เคยปราณีใคร กฏข้อไหนก็ไม่สำคัญ เลยเป็นที่มาของการแย่งชิง แล้วตบท้ายด้วยการร้องไห้ ส่งเสียงกรี๊ดกันระงม คุณแม่จึงต้องมาห้ามทัพ และกฏที่ได้ผลดีที่สุด ก็คือ กฏข้อสุดท้าย เมื่อทะเลาะกันจะต้องกอดและขอโทษกัน อันนี้ยอมทำตามและก็จะกลับมาคืนดี กอดคอหอมแก้มกันเหมือนเดิม

            มีมากมายหลายวิธีในการจัดการกับปัญหาลูกร้องกรี๊ด ผลลัพธ์ที่ได้ก็คงขึ้นอยู่กับตัวคุณแม่เองด้วยที่จะมีความอดทน และควบคุมอารมณ์ตัวเองได้มากแค่ไหน แต่สำหรับบ้านนี้ส่วนใหญ่ก็ใช้วิธีที่นำเสนอไปแล้วจัดการกับปัญหา ซึ่งตรงนี้ก็คงจะแนะนำได้ในบางส่วน แต่ปัญหาบ้านใครก็บ้านมัน วิธีการจัดการของคุณแม่ก็ต่างกันไป เรียนรู้ไปพร้อมกับลูกน้อยก็แล้วกันนะ คุณแม่!!!

ขอบคุณข้อมูล MGR Onlineเพจคุณหมอประเสริฐ ,parentsone.comM.O.M

ผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ ผู้หลงใหลในงานเขียน และมีความสุขกับทุกงานที่ทำ พร้อมแบ่งปันความสุขผ่านตัวหนังสือ

ความคิดเห็น