รายงานการละเมิด

โพสต์แนะนำ

ป้ายกำกับ

ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ให้กำลังใจคนป่วยมะเร็งยังไง? ถึงจะทำให้เขารู้สึกดีขึ้น คนป่วยมะเร็งอยากเล่าให้เข้าใจ

 

การให้กำลังใจผู้ป่วยมะเร็ง


เมื่อได้รับข่าวการป่วยด้วยโรคมะเร็งของคนใกล้ตัว คนใกล้ชิด หรือ คนรู้จัก บ่อยครั้งหรือไม่? ที่คุณอยากให้กำลังใจคนป่วย แต่หลาย ๆ คน อาจจะรู้สึกไม่กล้า เกรงว่าการให้กำลังใจนั้นจะยิ่งทำให้คนป่วยรู้สึกไม่ดีเข้าไปใหญ่ ลองเข้ามาอ่านบทความนี้ แล้วคุณจะเข้าใจพวกเขาดีขึ้น

        คนป่วยมะเร็งเป็นผู้ที่ค่อนข้างมีจิตใจอ่อนไหว และค่อนข้างวิตกกังวลเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ที่เพิ่งได้รับทราบผลการวินิจฉัยว่าตนเองป่วยเป็นมะเร็ง ต่างจากผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับทราบและอยู่กับโรคมาแล้วระยะหนึ่ง ผู้ป่วยกลุ่มหลังนี้จะค่อนข้างทำใจยอมรับได้ และอยู่กับความเป็นจริงได้มากขึ้น ฉะนั้นการให้กำลังใจจะค่อนข้างต่างกัน

        ผู้ป่วยมะเร็งที่เพิ่งได้รับทราบถึงอาการป่วยของตนเอง จิตใจจะบอบบาง อ่อนไหว เสียใจ และเศร้าซึมอย่างที่สุด แทบจะปิดกั้นความรู้สึกทุกอย่าง ฉะนั้นในช่วงนี้ แม้ว่าจะมีคนพยายามปลอบใจ หรือพูดอย่างไร ในบางครั้งผู้ป่วยจะไม่ยอมรับฟัง สิ่งที่ผู้ป่วยทำส่วนมากมักจะร้องไห้เสียใจ  หรือไม่ก็เศร้าซึม อยู่เฉย ๆ ไม่มีเรี่ยวแรงทำหรือจิตใจจะทำสิ่งใด ได้แต่หมกมุ่นอยู่กับโรคจนถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้าได้ (อันนี้นำมาจากประสบการณ์ตัวเองล้วน ๆ ) ฉะนั้น การให้กำลังใจด้วยคำพูดในช่วงนี้ อาจไม่มีค่าใด สิ่งที่คุณทำได้ดีที่สุด คือ การนั่งอยู่เป็นเพื่อนโดยไม่พูดอะไร การจับมือ การโอบไหล่ หรือ การกอด หรือ แค่การยิ้มที่เป็นการยิ้มเพื่อให้กำลังใจ ที่ออกมาจากใจจริง ๆ ใช้ภาษากายที่จริงใจ ส่งผ่านความรู้สึกไป จะเป็นการให้กำลังใจที่ดีที่สุด 
        เมื่อผู้ป่วยอยากร้อง ก็ปล่อยให้เขาร้อง ให้ปลดปล่อยออกมาจะทำให้เกิดความสบายใจในระดับหนึ่ง ไม่ควรบอกให้หยุดร้อง หรือ พูดอธิบายเหตุผลอันใด เพราะผู้ป่วยจะไม่พร้อมที่จะฟัง บางครั้งหากพูดมากเกินไป หรือพูดบางคำที่ทำให้สะดุดหู หรือ สะดุดใจ เช่น เดี๋ยวก็งาย ไม่เป็นไรหรอกใครก็เป็นกัน อันนี้บางทีอาจทำให้คนป่วยยิ่งรู้สึกแย่ และเถียงอยู่ในใจว่า ไม่หายหรอกต้องตายแน่ ๆ เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่คิดแบบนั้น และคิดว่า มะเร็ง เท่ากับตาย ที่เขียนนี้ไม่ได้เอามาจากหลักการ หรือ ทฤษฎีใด เป็นประสบการณ์ของตัวเองล้วน ๆ 
        และอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย พึงระวัง คือ การปล่อยให้ผู้ป่วยเศร้า เสียใจ เพียงลำพังเป็นเวลานาน ตรงจุดนี้อาจทำให้ผู้ป่วยมีการคิดเลยเถิดไปจนถึงขั้น อยากฆ่าตัวตาย  ดังนั้น การอยู่เป็นเพื่อน ให้ผู้ป่วยได้รู้สึกว่า เขาไม่ได้อยู่คนเดียวในโลกนี้ เป็นสิ่งที่ดีที่สุดกับผู้ป่วยมะเร็งที่เพิ่งได้รับรู้ความโชคร้ายนี้

สำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับทราบ เข้ารับการรักษา หรือ จบการรักษาแล้ว หรือ อยู่กับโรคระยะหนึ่งแล้ว ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเริ่มยอมรับความจริงได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้จะไม่ต้องการกำลังใจ การให้กำลังใจด้วยการคำพูด อาจถึงเวลาที่เหมาะสม คำพูดที่ใช้ในการให้กำลังใจควรส่งเสริมพลังทางบวกแต่พึงระวังไว้ว่าอย่าตัดสินใจแทน หรือพูดในสิ่งที่ฟังดูแล้วมันจับได้ว่าเป็นการโกหกเกินจริง เช่น "หายแน่นอน หายชัวน์"  ซึ่งมันสวนทางกับความเป็นจริง อาจอ่านเพิ่มเติมจากบทความ 8 สิ่งที่ไม่ควรพูดกับผู้ป่วยมะเร็ง อาจทำให้คุณมีวิธีการพูดที่ดีขึ้น แต่ตัวอย่างการพูดที่ให้กำลังใจผู้ป่วยที่มาดามได้พบเจอ ฟังแล้วรู้สึกค่อนข้างสบายใจ  ก็อย่างเช่น

สิ่งที่เกิดขึ้นกับเราบางทีเราก็กำหนดไม่ได้ แต่สิ่งที่เรากำหนดได้คือการรักษา เป็นแล้วก็รักษา วิธีการรักษาก็ยังมี ไม่ใช่หมดหนทางรักษา ตราบใดที่คุณหมอยังสู้ไปกับเรา เราก็ต้องสู้ไปกับคุณหมอ

สิ่งที่เราได้อยู่ เป็นอยู่ หรือ ได้รับ ไม่มีเหตุบังเอิญ ทุกอย่างเกิดขึ้นมีเหตุมีผลของมัน เราไม่รู้หรอกว่าวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร รู้แต่ว่าตอนนี้ วันนี้ เราป่วย เราต้องรักษา และต้องดูแลตัวเอง

คนอื่นที่เป็น คนที่รักษาแล้วหาย มีเยอะแยะ แล้วก็ยกตัวอย่าง คนนั้น คนนี้ เป็นเคสหรือราย ๆ ไป หรือ ยกตัวอย่าง ประสบการณ์ชีวิต ข้อคิดของผู้ป่วยมะเร็งท่านอื่น นำมาเล่า เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ป่วย ให้แข็มแข็งและมีความหวังกับการรักษา ในส่วนนี้สามารถหาข้อมูลได้ในหลายส่วนเอาเป็นว่า มาดาม ขอหยิบยกตัวอย่างบางส่วน เช่น บทความ ฉันรอดจากมะเร็งเพราะรอยยิ้ม และ How to สู้มะเร็ง



แต่ถ้าไม่ถนัดในการให้กำลังใจประเภทนี้ อาจชวนพูดคุยเรื่องอื่น ผ่อนคลายความเครียดไป เพราะบางครั้ง การพูดแต่เรื่องของโรคที่เป็น ก็ก่อภาวะเครียดให้ได้มากทีเดียว บางทีผู้ป่วยกลุ่มนี้โดยส่วนใหญ่จะเปิดใจยอมรับในธรรมะ และกฎแห่งกรรม ได้ดี อาจพาเข้าร่วมกิจกรรมธรรมะ เข้าวัดปฏิบัติธรรม หรือทำบุญ ก็จะทำให้เกิดความสงบ และสบายใจกับผู้ป่วยได้ดี ในเรื่องนี้อยากให้คุณผู้อ่านไปอ่านบทความที่มาดามอ่านเจอ แล้วรู้สึกว่่าดีต่อผู้ป่วย และผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย บทความเรื่อง ธรรมะกับโรคมะเร็ง สิ่งที่ไม่ไกลแค่ใช้ใจมอง อ่านดูแล้วรู้สึกสบายใจทีเดียว

แต่ผู้ป่วยกลุ่มนี้บางคน ก็ยังกลัวที่จะอยู่คนเดียว ฉะนั้น การปล่อยให้ผู้ป่วยอยู่คนเดียวนาน ๆ หรือ ตลอดเวลา ก็ยังเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง

อีกเรื่องที่พึงระวังในการให้กำลังใจผู้ป่วย เห็นใจได้ แต่อย่าเวทนา เพราะผู้ป่วยทุกคนต้องการกำลังใจ ความเห็นใจ และความช่วยเหลือในบางเรื่อง แต่ไม่ใช่ทุกเรื่องที่จะห้ามแล้วไม่ให้คนป่วยมะเร็งทำ เพราะบางครั้งการทำแบบนั้นจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไร้ค่า และยิ่งซึมเศร้ายิ่งขึ้น สิ่งใดที่ผู้ป่วยอยากทำ ทำแล้วมีความสุข มีความสามารถทำได้ ก็ต้องให้ผู้ป่วยทำเองบ้าง เพื่อให้ผู้ป่วยมีความสุขและรู้สึกถึงคุณค่าในตัวเอง และจุดสำคัญ คือ แววตา หากคุณจ้องมองผู้ป่วยด้วยแววตาให้กำลังใจ เห็นใจ ผู้ป่วยก็จะรู้สึกได้ แต่หากคุณมองผู้ป่วยด้วยแววตาเวทนา ผู้ป่วยก็รู้สึกได้เช่นกัน และเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยเกือบจะทุกคน ไม่ชอบเลย

ผู้ป่วยมะเร็งบางกลุ่มอาจมีความกังวลใจในเรื่องอื่นเพิ่มเติม นอกจากความกังวลในโรคของตนเอง เช่น เรื่องปัญหาครอบครัว หรือแม้กระทั่งการเงิน ซึ่งผู้ป่วยมะเร็งส่วนใหญ่จะประสบปัญหานี้ มาดามก็ได้เขียนเล่าไว้ใน มะเร็งต้องจ่าย เปิดค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการรักษามะเร็ง เป็นค่าใช้จ่ายที่ผู้ป่วยมะเร็งต้องพบเจออย่างเลี่ยงไม่ได้ จึงมีผู้ป่วยมะเร็งจำนวนไม่น้อยที่เครียดกับเรื่องนี้ และต้องการกำลังใจเป็นอย่างมาก ดังนั้น หากเป็นคนใกล้ชิด ช่วยเหลือแบ่งเบาได้ ก็ควรช่วยเหลือ แต่หากไม่ใช่คนใกล้ชิดสนิทสนม ก็เพียงแต่รับฟังปัญหา เพื่อให้ผู้ป่วยได้ระบาย ก็เห็นจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดแล้ว

การให้กำลังใจคนป่วยมะเร็ง เป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน และมีผลต่อจิตใจผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ในฐานะที่มาดามเป็นคนป่วยมะเร็งคนหนึ่ง ขอเป็นตัวแทนในการบอกเล่า หากคุณยังเกรงว่าไม่สามารถทำได้ ก็ไม่ต้องทำอะไรมาก เพียงแค่ มอง และยิ้มด้วยความจริงใจ จากส่วนลึกของจิตใจ ก็เป็นการให้กำลังใจที่มีค่าที่สุดแล้ว

 

 

ผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ ผู้หลงใหลในงานเขียน และมีความสุขกับทุกงานที่ทำ พร้อมแบ่งปันความสุขผ่านตัวหนังสือ

ความคิดเห็น